บล็อก

ความยั่งยืน สวัสดิภาพสัตว์และการกินอาหารจากพืชกำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมนมในเอเชียแปซิฟิก

มิถุนายน 29th, 2021 | ข่าว Mintel |

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการรับประทานโปรตีนจากพืชถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเมื่อผู้ผลิตเนื้อสัตว์และบริษัทผลิตภัณฑ์จากนมทั่วไปต่างมองหาวิธีกระตุ้นการบริโภคด้วยการออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่พรีเมียม มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพออกมา ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจการกินอาหารจากพืชมากขึ้น แถมผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิตที่สะอาดปลอดภัยของอาหารและเครื่องดื่มทางเลือกอีกด้วย ยกตัวอย่าง 1ใน 3 (33%) ของผู้บริโภคชาวอินเดีย* ให้คำมั่นว่าจะกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้อยลง (เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมหรือเนื้อสัตว์) ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานว่าด้วยการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มหลังการระบาดของโรคโควิด-19 นั่นเอง ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ผู้บริโภคจำนวน 71%** เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่ออาหารและเครื่องดื่มที่พวกเขาซื้อ หรือในขณะเดียวกัน 57% ของผู้บริโภคชาวจีนที่อาศัยในเมืองเห็นด้วยว่าสิ่งแวดล้อมถูกให้ความสำคัญมากขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19

ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูล Mintel Global New Products Database (GNPD) เปิดเผยว่า 47% ของผลิตภัณฑ์นมจากพืชที่เปิดตัวในภูมิภาค APAC ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาถึงเดือนพฤษภาคม 2021 มีการเคลมผลิตภัณฑ์ในเรื่องความยั่งยืน (ของที่อยู่อาศัย/ทรัพยากร) นับเป็นตัวเลขบ่งชี้โอกาสในการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

Tan Heng Hong นักวิเคราะห์ในกลุ่มนวัตรกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาค APAC  กล่าวว่า “การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ‘สายกรีน’ จัดเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่จะผลักดันโอกาสสำคัญแก่ผู้ผลิตและแบรนด์ในผลิตภัณฑ์จำพวกนมจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตที่ควรเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องอาหารจากพืช สวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืนผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ไปจนถึงกระบวนการผลิตและประโยชน์ที่ผู้บริโภคพึงได้รับจากแบรนด์อีกด้วย 

ผสมผสานคุณค่าทางอาหารที่ดีที่สุดจากทั้งสองขั้ว

ในเอเชียแปซิฟิกเรามักคิดว่าผลิตภัณฑ์นมจากพืชเป็นเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยโภชนาการที่มีประโยชน์และเหมาะกับคนแพ้แลคโตสเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ผลิตภัณฑ์นมจากพืชได้ยกระดับตัวเองให้ไม่เพียงแต่เหมาะสมสำหรับผู้แพ้สารอาหารเท่านั้น แต่เพื่อรองรับผู้บริโภคที่สนใจการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มจากพืชที่ใส่ใจในความยั่งยืนและสวัสดิภาพสัตว์เช่นกัน

อ้างอิงผลการวิจัยของ Mintel พบว่า 35% ของผู้บริโภคในประเทศจีนที่อาศัยในเมืองต้องการเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชที่มีส่วนผสมของนม ในขณะที่ 22% ของผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มโปรตีนจากพืชที่มีส่วนผสมจากพืชสองชนิดขึ้นไป ในประเทศอินเดียพบว่าผู้บริโภคเกือบ 1 ใน 5 (17%) กล่าวว่านมขาวทั่วไปมีประโยชน์มากกว่านมจากพืช

Heng Hong เสนอแนะว่า “บริษัทผลิตภัณฑ์นมสามารถใช้โอกาสนี้ในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ dairy-free ผ่านกรรมวิธีผสมผสานคุณประโยชน์จากนมขาวและโภชนาการที่มากมายจากนมพืช การผสมผสานผลิตภัณฑ์เช่นนี้สามารถเอาชนะปัจจัยปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคในการบริโภคได้ในตลาดอย่างประเทศอินเดียที่บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมเป็นส่วนหลักในมื้ออาหารของพวกเขา

ผู้บริโภคมองหาความหลากหลายในส่วนผสมจากพืชมากขึ้น

จากผลวิจัยของ Mintel พบว่า 70% ของผู้บริโภคคนไทยต้องการเห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ non-dairy มากขึ้นและอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูล Mintel GNPD เปิดเผยว่า ในเอเชียแปซิฟิกระหว่างเดือนมิถุนายน 2020 ถึงเดือนพฤษภาคม 2021 ถั่วเหลือง (48%) เป็นส่วนผสมหลักในโยเกิร์ตถ้วยและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากพืช

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการบริโภคถั่วเหลืองมีแนวโน้มลดลงและสวนทางกับการเติบโตของส่วนผสมจำพวกถั่วที่รวมถึงอัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ธัญพืชและเมล็ดพืชต่าง ๆ ในประเทศจีนผู้ดื่มชาถึง 59% เล็งเห็นคุณค่าทางโภชนาการจากข้าวโอ๊ต โดยข้อมูลจาก Mintel GNPD พบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านถึงเดือนพฤษภาคม 2021 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา ความนิยมของนมข้าวโอ๊ตในธุรกิจบริการอาหารได้ขยายช่องทางสู่ร้านค้าปลีกด้วยอัตราการเติบโตถึง 110% ในผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตที่มีส่วนผสมจากข้าวโอ๊ต

Heng Hong สรุปทิ้งท้ายว่า “แม้ส่วนผสมจากพืชอย่าง ข้าวโอ๊ต ข้าวและถั่วอื่น ๆ จะเป็นหัวใจของนวัตกรรมส่วนผสม ถั่วเหลืองยังคงยืนหนึ่งจากความนิยมและจากการที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมานานที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โอกาสจึงตกมาอยู่ที่มือแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองของพวกเขาอย่างไรให้เหมาะสมและตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่เสมอ อีกทั้งในการที่นมและโยเกิร์ตจากพืชต้องการจะวางฐานผลิตภัณฑ์ให้มั่นคงในตลาดเอเชีย บริษัทจะต้องมั่นใจว่าแม้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะผลิตจากพืชอื่นนอกจากถั่วเหลือง สินค้าเหล่านั้นจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคอย่างแพร่หลายได้จริงทั้งในด้านราคาและรสชาติของผลิตภัณฑ์”

*Mintel Global Consumer, เดือนกรกฎาคม 2020

**Mintel Global Consumer, เดือนธันวาคม 2019