การเติบโตของอีคอมเมิร์ซทำลายวิถีความยั่งยืนของผู้บริโภคชาวไทย
ผู้บริโภคชาวไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนในเชิงรุกมากขึ้นกว่าก่อน จากผลการวิจัยล่าสุดของ Mintel พบว่า 82%* ของผู้บริโภคชาวไทยพยายามใช้ชีวิตในลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แม้ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจในเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังดำเนินอยู่ได้ขัดขวางความตั้งใจของผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องการใช้ชีวิตตามวิถีความยั่งยืน และในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวไทยเกือบครึ่ง (42%)** ได้ถือว่ามุมมองและ Zero Waste (แนวคิดการลดขยะเป็นศูนย์) เป็นหนึ่งในความท้าทายในช่วงการระบาดของโรค ด้วยความที่อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างมหาศาลและทางเลือกในการสั่งอาหารอย่างฟู้ดเดลิเวอรี่ได้เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันมากขึ้น การใช้บริการเหล่านี้ก่อให้เกิดขยะบรรจุภัณฑ์ในปริมาณมากที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมา
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยเกือบหนึ่งในสาม (32%) โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล (36%) มักเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างถึงความยั่งยืนบนฉลาก คนกลุ่มมิลเลนเนียล*** (84%) มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้เพื่อนและคนในครอบครัวหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของประเทศอินเดียและประเทศไทย บริษัท Mintel กล่าวว่า
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการขยายตัวของบริการจัดส่งอาหารและการช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดปริมาณของเสียและการปล่อยก๊าซที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แบรนด์สามารถใช้โอกาสนี้ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการที่จะมาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ไม่เพียงช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อบริการและสินค้าออนไลน์ด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น แต่ยังเพิ่มพูนวินัยในการใช้ชีวิตเพื่อความยั่งยืนได้อีกด้วย นอกจากนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ควรพิจารณาเรื่องการนำเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์ว่าผู้บริโภคที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างไร หรือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยนักช้อปออนไลน์เลือกผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นในแต่ละหมวดหมู่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร”
คนไทยมองหาข้อพิสูจน์เรื่องความยั่งยืนจากแบรนด์ต่าง ๆ
ทุกวันนี้ ผู้บริโภคคาดหวังมากขึ้นกับแบรนด์ต่าง ๆ ในการดำเนินการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อีกทั้งพวกเขายังมองหาความโปร่งใสระหว่างการดำเนินการมากขึ้นเช่นกัน ผลการวิจัยของ Mintel แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (23%) คิดว่าแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสขณะดำเนินงานหรือโครงการเพื่อความยั่งยืนมากเท่าที่ควร ในขณะที่ผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) ต้องการให้แบรนด์แสดงให้เห็นถึงการกระทำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณปองสงวน จีระเดชากุล รองผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของประเทศอินเดียและประเทศไทย บริษัท Mintel ยังได้กล่าวอีกว่า
“การที่ผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้การสนับสนุนต่อผลิตภัณฑ์ที่มีการเคลมด้านความยั่งยืนเป็นจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการกระทำที่ต่อเนื่องและชัดเจนต่อความพยายามในเรื่องความยั่งยืนด้วยเหมือนกัน ซึ่งแบรนด์จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจด้วยการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนที่เข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือออฟไลน์ ไม่เพียงเท่านั้น แบรนด์จะต้องสร้างความไว้วางใจ ด้วยการอัปเดตความสำเร็จของการปฏิบัติกิจกรรมหรือโครงการด้านความยั่งยืนต่าง ๆ ที่ทำในรูปแบบที่ผู้คนเข้าใจง่ายและสามารถตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่น การโพสต์ภาพ/จำนวนกิจกรรมที่ทางแบรนด์ปฏิบัติได้สำเร็จและลุล่วงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือการแสดงรหัส QR บนบรรจุภัณฑ์ โดยแบรนด์สามารถสร้างลูกเล่นให้ลิงก์ในการเข้าถึงดูโดดเด่นและน่าสแกน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพสวยงาม การสร้างแรงจูงใจ และการมีเกมที่น่าสนุก สิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ได้อย่างง่ายดาย”
จากผู้เขียน
*ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,000 คน, เดือน สิงหาคม 2564
**ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 2,000 คน, เดือน สิงหาคม 2564
***ผู้บริโภคอายุ 25-34
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดเพื่อพูดคุยกับทีมนักวิเคราะห์ของเรา กรุณาติดต่อ Mintel Press Office ที่อีเมล press@mintel.com