บล็อก

วันทะเลโลก: ชีวิตและการดำรงชีวิต

มิถุนายน 8th, 2021 | ข่าว Mintel |

มนุษย์กว่า 3 พันล้านคนต่างพึ่งพามหาสมุทรเพื่อการดำรงชีวิตผ่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบการท่องเที่ยว การประมง อาหารทะเล ไปจนถึงการขนส่ง ทั้งหมดทั้งมวลต่างเกิดขึ้นบนผิวน้ำที่นับเป็น 70 เปอร์เซ็นของพื้นผิวโลกเรา หลายประเทศ หลากชุมชน และผู้คนทั่วโลกต่างต้องพึ่งพามหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อใช้เป็นอาหาร การดำรงชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการบ่งบอกเอกลักษณ์ความอยู่ของแต่ละตัวตน อย่างไรก็ตามระบบนิเวศทางน้ำระดับท้องถิ่นต่างมองหาทางออกในการผ่อนคลายความตึงเครียดต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ผลเกิดจากการกระทำที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์เรานั้นเอง

ตั้งแต่ปี 2008 องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันทะเลโลก นับเป็นโอกาสในการสื่อสารกับสาธารณชนให้รับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์ต่อท้องทะเล ในปีนี้มาในหัวข้อ ‘Life & Livelihoods’ หรือ ‘ชีวิตและการดำรงชีวิต’ โดยเน้นเนื้อหาถึงความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และมหาสมุทรที่มีร่วมกันตลอดหลายช่วงเวลา ไม่ว่าด้านวัฒนธรรม สังคม หรือเศรษฐกิจที่มีใจความสำคัญในการสร้างสมดุลบนรากฐานความเข้าใจระหว่างสองสิ่งเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง ในครั้งนี้องค์กรมีเป้าหมายในการปกป้องผืนดินและผืนมหาสมุทรถึง 30 เปอร์เซ็นภายในปี 2030

แม้ความยั่งยืนมักถูกตีกรอบให้เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคเวลาเลือกซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมหรือเพียงความประหยัด หรือแม้แต่เป็นตัวเลือกตัดสินใจระหว่างชีวิตหรือสไตล์การทำมาหากิน ตัวเลือกเหล่านี้นับว่าเป็นการแบ่งขั้วแบบผิด ๆ และถือว่าขาดบริบททางความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องบนรากฐานของความจริง ทั้งที่จริงแล้วความยั่งยืนต่างหากที่สามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ที่มิใช่แค่การตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภค แต่ยังเป็นการบุกเบิกผลิตภัณฑ์และทางออกใหม่ ๆ ที่จะมาสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการดำเนินชีวิตที่สองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เพราะสุดท้ายหากไม่มีโลกที่อุดมสมบูรณ์ ชีวิตใดก็มิสามารถอาศัยอยู่ได้

ในภาพที่ใหญ่กว่า

ทุก ๆ สองถึงสามปีสื่อมักเผยแพร่สารคดีใหม่ที่มีการเปิดโปงและอ้างถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เบียดเบียนและทำลายสิ่งแวดล้อม สัตว์ มนุษย์ หรือแม้กระทั่งทั้งสามกรณีในหนึ่งเดียว ปีนี้มีภาพยนตร์สารคดีสุดฉาว Seaspiracy ที่ฉายบน Netflix ที่เล่าเรื่องราวการสำรวจผลกระทบที่มาจากการประมงเชิงพาณิชย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทร เรื่องราวที่แลดูจะเป็นจริงได้ถูกตีแผ่ออกได้ท้าเชิงความคิดเห็นและปฏิกิริยาของผู้คนในแวดวงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามหากจะพูดว่าเรื่อง Seaspiracy มีผลต่อการกระตุ้นให้คนเลิกกินปลาเลยแลจะเกินไปสักหน่อย แต่มันสามารถกระตุ้นต่อมความคิดให้ผู้บริโภคบางส่วนพิจารณาและลดการบริโภคอาหารทะเลลง รวมไปถึงความใส่ใจต่อบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก การกล่าวอ้างด้านความยั่งยืนในบรรจุภัณฑ์ และความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดในอนาคตจากเนื้อหาสารคดีที่สะเทือนอารมณ์แม้ผู้ชมจะลืมตัวเลขสถิติของปัญหาเหล่านั้นในหนังแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงตื่นตัวต่อประเด็นปัญหาของมหาสมุทร สภาพอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพว่าแต่ละประเด็นมีความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง และในตอนนี้เรามีประเด็นใหม่ที่อาจส่งผลให้วิกฤตภาวะโลกร้อนแย่ลงไปอีก นั่นคือวิถีการจับปลาและการบริโภคสัตว์โดยทั่วไปที่มากเกินไปด้วยเช่นกัน หมายความว่าความคาดหวังของผู้บริโภคในเรื่องจรรยาบรรณการซื้อและบริโภคสินค้าจะมีความซับซ้อนทวีคูณ อ้างอิงงานวิจัยของ Mintel Purchase Intelligence พบว่า กลุ่มผู้บริโภคในออสเตรเลียบางคนเลือกซื้อปลาจากฟาร์มด้วยเหตุผลด้านความยั่งยืน ในขณะที่อีกกลุ่มหลีกเลี่ยงการซื้อปลาเลี้ยงในฟาร์มโดยเชื่อว่ามันไม่มีความยั่งยืนและไม่ดีต่อสุขภาพ

ความซับซ้อนของผลลัพธ์อยู่ที่ว่าความจริงแล้วทั้งสองวิธีนี้อาจไม่มีความยั่งยืนเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือวิธีการประมงของทั้งสองเจ้าว่าดำเนินไปในทางใด ดังนั้นมันจึงสำคัญที่แบรนด์จะต้องทำความเข้าใจปัญหาและลดความหวาดกลัวของกลุ่มผู้บริโภคไปพร้อมกัน เช่น การเคลมว่า ‘จับแบบธรรมชาติ’ อาจทำให้ลูกค้าจินตนาการภาพชาวประมงหนึ่งคนที่กำลังตกและดึงปลาขึ้นมาจากทะเล อย่างไรก็ตามผู้บริโภคเองก็จะหาข้อมูลและศึกษาวิถีประมงว่าส่งผลกระทบหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการจับสัตว์น้ำแบบพลอยได้ หรือแม้แต่ความเสียหายจากอวนลากในมหาสมุทร ทำนองเดียวกันเองกับการเลี้ยงปลาในฟาร์มที่น่าจะเป็นวิธีลดปัญหาเหล่านั้น มันกลับสร้างความกังวลให้ผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องสารเติมแต่ง ยาปฏิชีวนะ คุณภาพชีวิตของปลาในฟาร์ม และความเสื่อมโทรมของแหล่งอาศัยในสิ่งแวดล้อม

ควบคู่ไปกับปัญหาทางทะเลอื่น ๆ องค์การการค้าโลกเองได้เจรจายุติกฎระเบียบเรื่องการอุดหนุนประมงที่ครอบคลุมถึงการห้ามอุดหนุนประมงเกินขนาด ปัญหานี้นับเป็นหนึ่งตัวการที่นำไปสู่การจับสัตว์น้ำมากเกินไป อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่าได้เปรียบชาวประมงรายย่อยในประเทศที่ยากจนที่ยังต้องพึ่งพามหาสมุทรเพื่อหาอาหารทะเลแก่ชุมชนของพวกเขา ผู้บริโภคเริ่มประติดประต่อเรื่องราวปัญหาและเข้าใจว่าการบริโภคของพวกเขาสามารถส่งผลกระทบไปอีกหลายต่อ อย่างไรก็ตามหลายแบรนด์พยายามช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฐานะแบรนด์หนึ่งที่ใส่ใจในปัญหาอีกด้วย เช่นเดียวกับ Walmart ผู้ค้าปลีกข้ามชาติในสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าที่จะวางขายปลาสดและปลาแช่แข็งที่ได้การรับรองจาก Marine Stewardship Council ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืน หรือในบางกรณีที่แบรนด์ถูกมัดมือกับรัฐ แบรนด์เองสามารถเป็นกระบอกเสียงและเป็นตัวแทนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้บริโภคได้เช่นกัน

ขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ตามรายงานจากกลุ่มสิ่งแวดล้อม Ocean Conservancy ประจำปี 2017 พบว่า ขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันถูกไหลทิ้งลงมหาสมุทร โดยมากกว่าครึ่งมาจาก 5 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย โดยกลุ่มภูมิภาคนี้ได้พยายามออกมาตราการลดการใช้พลาสติกและให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้พลาสติกต่อแหล่งที่พวกเขาอาศัยอยู่ อย่างสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งใน บาหลี ปีนัง และโบราไกย์ได้ผลักดันตนเองให้เป็นผู้นำในการเลิกใช้ถุงพลาสติก หรือเเม้แต่ผู้ค้าปลีกหลายรายในภูมิภาคเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกถึงแม้จะมีเสียงต่อต้านจากผู้บริโภคบางคนบ้างก็ตาม จากผลวิจัยของ Mintel แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองมากขึ้น โดย 77% ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ กล่าวว่า การกระทำที่ยั่งยืนของแต่ละบุคคลสามารถส่งผลกระทบไปทั่วโลก ในขณะที่ 78% คิดว่ามาตรการริเริ่มและลงมือทำจากแบรนด์ใหญ่เป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดย 45% ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรกล่าวว่ามลพิษจากพลาสติกเป็นหนึ่งในความกังวลด้านจริยธรรมที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ ในขณะที่ 84% ของผู้บริโภคชาวจีน กล่าวว่า พวกเขาพร้อมที่จะคว่ำบาตรบริษัทที่ทำผิดจรรยาบรรณ

ญหาของขยะพลาสติกในมหาสมุทรได้ทวีคูณ แม้จะมีการเก็บขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลพิษในมหาสมุทรและการป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทรมากกว่าเดิม แบรนด์ต่าง ๆ กำลังปรับวิถีนวัตกรรมและวิธีแก้ปัญหาแบบองค์รวมมาประยุกต์กับปัญหาเหล่านี้ ในประเทศฟิลิปปินส์มีร้าน Plastic Barter ที่มอบอาหารและสินค้าแก่คนในชุมชนโดยแลกกับขยะพลาสติกที่ทางร้านขอนำไปทำอิฐสำหรับโครงการสร้างบ้านราคาประหยัด เช่นเดียวกับ Henkel บริษัทเคมีภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภคของเยอรมันที่ร่วมมือกับ Plastic Bank หรือ ธนาคารฝากขยะพลาสติกผ่านโครงการ Social Plastic ที่มีจุดประสงค์ในการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกมาทำบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ซักผ้าและดูแลบ้าน Social Plastic ที่กล่าวถึงได้นำขยะพลาสติกที่มาจากการรวบรวมของผู้คนและชุมชนด้อยโอกาสมาแปรรูปก่อนที่ขยะเหล่านั้นจะไหลสู่ทะเล โครงการนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ถึงสองประการด้วยกัน นั่นคือการลดปริมาณขยะพลาสติกเพื่อมหาสมุทรที่ใสสะอาด และการช่วยคนด้อยโอกาสให้มีรายได้และมีวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ที่หลุดจากความยากจน

หลายแบรนด์พยายามจำกัดการใช้พลาสติกใหม่และใช้เฉพาะพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลเท่านั้น แบรนด์เครื่องสำอางของออสเตรเลีย Ultraceuticals ร่วมมือกับ Ocean Waste Plastics (OWP) ในการลดการใช้พลาสติกใหม่และลดขยะพลาสติกให้หมดไปจากท้องทะเล แม้ว่าขั้นตอนการลดและจำกัดปริมาณพลาสติดนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างลำบากซับซ้อนสำหรับแบรนด์ในอุตสาหกรรมความงามที่มักข้อกำหนดเฉพาะในส่วนบรรจุภัณฑ์ แต่ด้วยความคาดหวังของผู้บริโภคต่อแบรนด์ที่มีมากขึ้นในทุก ๆ วัน แบรนด์จึงตระหนักถึงความคุ้มค่าที่คู่ควรแก่การลงทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการโดยไม่ต้องคำนึงถึงอุปสรรคในการดำเนินการนั่นเอง

ความโปร่งใสคือกุญแจสำคัญ

ผู้บริโภคมักเชื่อการกล่าวอ้างของเคลมบนบรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับคุณค่าและความเชื่อส่วนมั่นบุคคลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า รวมถึงความไว้วางใจต่อเคลมที่ได้รับการรับรองจากองค์กรรักษาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามจากการดูสารคดี Seaspiracy ได้ส่งผลต่อลดและทำลายความไว้วางใจของตรารับรองในหมู่ผู้บริโภค นั่นหมายความว่าการที่แบรนด์จะพึ่งพันธมิตรหรือองค์กรที่สามเพื่อบรรเทาความกังวลของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป มันจึงสำคัญที่ตัวแบรนด์เองจะต้องทำการบ้านอย่างหนักในการสามารถพูดคุยถึงความท้าทายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทอุตสาหกรรมและความโปร่งใสในแนวทางปฏิบัติและการรับมือในธุรกิจของแต่ละองค์กร

สุดท้ายผู้บริโภคเพียงต้องการมองหาความตั้งใจที่สุจริต ความโปร่งใส และความรับผิดชอบอย่างจริงจังของบริษัทในห่วงโซ่ไม่ว่าจะระบบการผลิตไปจนถึงการบรรลุเป้าหมายสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดในการมีส่วนรับผิดชอบคือการนำข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์และวัดผลอย่างจริงจัง หากปราศจากความเข้าใจในธรรมชาติและขนาดของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เราคงไม่มีทางรู้ว่าความพยายามใดบ้างที่สร้างความแตกต่างได้ ซึ่งโอกาสนั้นจะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่พาตัวเองขึ้นเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างแท้จริง ซึ่งไม่เพียงคลายกังวลแต่ยังสามารถสร้างตื่นตาตื่นใจให้กับผู้บริโภคได้ในขณะเดียวกัน และแม้ว่าเส้นทางสู่ความยั่งยืนจะมีขวากหนามอยู่บ้าง แต่มันไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไปเพราะผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเดินฝ่าหนามไปพร้อมกันกับแบรนด์