ติดตามแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลกในปี 2022 และบริบทสำคัญสำหรับภูมิภาค South APAC
การระบาดใหญ่ของโรค ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและระดับโลกจากปี 2020 จนถึงปี 2021 ทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรม ทัศนคติ และค่านิยมใหม่ โดยในเนื้อหาแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลกปี 2022 ของ Mintel ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคและทางทีมได้แบ่งปันผลการคาดการณ์ว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะสามารถเตรียมรับมือกับวิวัฒนาการใหม่ ๆ ในพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้อย่างไรได้บ้าง ภายในบล็อกนี้เราจะพาคุณสำรวจ 3 แนวโน้มหลักว่าประเด็นเหล่านี้จะส่งผลต่อแนวโน้มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้อย่างไรบ้าง
เทรนด์ ‘Enjoyment Everywhere’: ค้นหาและรักษาความสุขที่ผสานเข้ากับความเป็นจริง
หลังจากช่วงล็อกดาวน์ที่สุดยาวนานและแสนเข้มงวด ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ต่างกำลังมองหาวิธีการใดก็ตามที่จะมาช่วยให้พวกเขาหลุดหนีจากกฎเกณฑ์และขอบเขตที่ถูกบังคับมาโดยตลอด พวกเขาโหยหาความเพลิดเพลินที่มากกว่าความเพลิดเพลิน “ปรกติ” โดยผู้บริโภคชาวอินเดียเกือบครึ่งเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าพวกเขาแสวงหาความสนุกสนานในทุกแง่มุมของชีวิต ซึ่งข้อมูลนี้มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 12 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคมากมายจะขยับเข้าสู่อีกขั้นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อดื่มด่ำไปกับประสบการณ์ใหม่ที่จะช่วยให้พวกเขารู้สึกสนุก ผ่อนคลาย และมีความสุข
จากการที่ผู้บริโภคเริ่มเปิดรับวิธีการหลบหนีจากโลกแห่งความจริงใหม่เพื่อดื่มด่ำความสุข แบรนด์มากมายต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาแนวทางใหม่ ๆ ที่ผนวกเทคโนโลยีเข้ากับบริการหรือผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อสร้างความแตกต่างและแปลกใหม่ให้แก่แบรนด์ ตัวอย่างเช่น Dom’s Bar & Kitchen ในประเทศมาเลเซียที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้ในการสั่งรายการอาหารและเครื่องดื่มของร้าน โดยลูกค้าสามารถสแกนเพื่อเลือกดูเมนูต่าง ๆ ในรูปแบบ 3 มิติได้ อีกทั้งร้าน Dom’s ยังมีการเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งผนังภายในร้าน ที่ลูกค้าสามารถใช้ฟิลเตอร์ AR มาแปลงภาพตกแต่งเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพที่มีชีวิตได้ ซึ่งการประยุกต์เทคโนโลยีนี้ได้กลายเป็นแนวทางในการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครได้อีกด้วย
ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังมองหาวิธีที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา พัฒนาการของการเชื่อมต่อระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกดิจิทัลจะเริ่มบรรจบกันอย่างไร้รอยต่อและเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้ามากขึ้นสักเท่าไร ผู้บริโภคต่างตระหนักและเริ่มมองหาจุดสมดุลในการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างโลกทั้งสองใบนี้ โดยผู้บริโภคหลายคนหันเข้าหากิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ หรือแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมไปถึงกิจกรรมที่ทำในชีวิตจริงมากขึ้น เพราะพวกเขาต้องการที่จะใช้เวลากับธรรมชาติและงานอดิเรกแบบดั้งเดิมเพื่อความสุขความบันเทิงอย่างแท้จริง
ในการแสวงหา ‘ความสุขจากภายใน’ ผู้บริโภคชาวเวียดนามมากกว่าหนึ่งในสามกล่าวว่าการสำรวจจิตวิญญาณของตนเป็นหนึ่งในความสำคัญอันดับแรก ๆ ในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงผู้บริโภคในนิวซีแลนด์ครึ่งหนึ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมามักเข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเดินและการดูนก อีกทั้งในฝั่งของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียมากกว่าครึ่งที่พยายามหาวิธีหยุดหรือลดการใช้สมาร์ทโฟนตลอดวัน
ดังนั้นหากกล่าวถึงอาณาจักรดิจิทัล ใช่ว่ามันจะเป็น ‘ทุกอย่าง’ หรือจะเป็น ‘จุดจบ’ ไปเสียทั้งหมด เพราะโลกดิจิทัลนั้นจะยังคงมีบทบาทสำคัญมากมายในชีวิตประจำวันของพวกเรา ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้บริโภคยังคงแสวงหาประสบการณ์ทางกายภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกและความหมายที่สำคัญ และนั่นเองก็เป็นหนึ่งในความปรารถนาของผู้คนต่อความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นแบบองค์รวม
เทรนด์ ‘In Control’: เมื่อผู้บริโภคกลายเป็นผู้คุมบังเหียน แบรนด์จะต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้นให้ได้
ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดใหญ่ส่งผลให้เกิดความต้องการในการมีอำนาจและสิทธิ์ในการตัดสินใจในหมู่ผู้บริโภค เรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์จะต้องให้ความสำคัญในการเข้าหาผู้บริโภคและทำความเข้าใจว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร และแบรนด์สามารถตอบสนองต่อปัญหาหรือยื่นมือช่วยเหลือพวกเขาได้หรือไม่อย่างไรบ้าง ผู้บริโภคจะมองหาและให้ความสนใจกับแบรนด์ที่สนใจในประเด็นเดียวกันกับพวกเขา หรือแบรนด์ที่มีสินค้าหรือบริการที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนอยู่ในฐานะผู้ควบคุมหรือคนกุมบังเหียน
มากไปกว่านั้น เรื่องราวข้อเท็จจริงได้กระเถิบขึ้นเป็นสิ่งสำคัญในยุคที่เต็มไปด้วยข่าวสารแบบผิด ๆ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อจัดการกับข้อมูลเท็จทางออนไลน์เหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคไม่เพียงแต่คาดหวังให้แบรนด์เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงแก่พวกเขาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการให้แบรนด์เก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาเป็นอย่างดีและปลอดภัยอีกด้วย ซึ่ง 80% ของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์เห็นด้วยกับการที่แบรนด์ควรปฏิบัติตามในประเด็นนี้
เรามักเห็นผู้บริโภคเริ่มมีวิธีควบคุมการใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือและเทคโนโลยีร่างกายของตนเองมากกว่าเก่า ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพไปจนถึงเรื่องการเงิน พวกเขาต้องการที่จะหาวิธีใดก็ตามที่จะมาช่วยเพิ่มความเป็นอิสระและความยืดหยุ่นในการใช้งานอุปกรณ์มากขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะสามารถรู้สึกถึงความสามารถในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ โดยเทคโนโลยีและทรัพยากรเหล่านี้จะต้องพร้อมใช้งานและสามารถเป็นเครื่องมือที่เข้าไปช่วยจัดการชีวิตประจำวันสุดวุ่นวายของพวกเขาให้ง่ายขึ้นได้
จากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักและรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของ ‘สิ่งที่ไม่รู้จักที่ไม่เคยรู้จัก’ ซึ่งในช่วงเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีความยั่งยืนและครอบคลุมการใช้งานที่พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากขึ้นมากกว่าเก่า โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะมีส่วนเข้ามาช่วยผู้บริโภคให้รู้สึกมีอำนาจในการควบคุมและปลอดภัยต่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหาร ฯลฯ
แนวโน้ม ‘Climate Complexity’: การดูแลโลก เรื่องสำคัญอันดับหนึ่งในใจผู้บริโภค
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นกระแสหลักที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ ผู้บริโภคเรียกร้องให้ภาครัฐและเอกชนนำเสนอหนทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มักมองโลกในแง่ดีและต้องการที่จะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น อย่าง 2 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวไทยเชื่อว่าเรายังพอมีเวลาเหลือในการช่วยโลกเราหากเริ่มทำในตอนนี้ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคเองมักรู้สึกซับซ้อนอยู่บ่อยครั้งในความรู้สึกกังวลและกระวนกระวายต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วนและความรู้สึกที่ตนต้องคอยควบคุมคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ปล่อยออกมา ซึ่งความรู้สึกนี้ส่งผลให้พวกเขารู้สึกเครียดและคิดมากขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการในแต่ละครั้ง
อ้างอิงจาก Elysha Young ผู้จัดการในส่วน Mintel Trends ภูมิภาค APAC ที่กล่าวไว้ว่า “ในขณะที่ความเข้าใจต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของผู้บริโภคมีมากขึ้น พวกเขาจะเรียกร้องบริษัทหรือองค์กรที่มีส่วนในการรับผิดชอบปัญหาอย่างตรงไปตรงมามากขึ้นเช่นกัน ในอีก 12 เดือนข้างหน้าผู้บริโภคจะเริ่มออกมาเรียกร้องในเรื่องความโปร่งใสต่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาบริโภคมากขึ้น โดยพวกเขาจะมองหาบริษัทที่สามารถนำเสนอทางเลือกสำหรับการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศและบริษัทที่สามารถแนะนำแนวทางสำหรับการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ”
สืบเนื่องจากการที่ผู้บริโภคทราบกันดีว่ากระบวนการหมักของอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนในการทำให้เกิดก๊าซคาร์บอน บริษัท Young Henry’s Brewery ในประเทศออสเตรเลียตระหนักถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงร่วมมือกับทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ทางบริษัทนำสาหร่ายขนาดเล็กมาใช้ในระบบการผลิตสินค้า โดยสาหร่ายนี้สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการหมักเบียร์และแปลงมันให้กลายเป็นก๊าซออกซิเจนแทนได้
ในขณะที่วิกฤตการณ์สภาพอากาศกลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้คนมากเท่าไร ผู้บริโภคต่างคาดหวังให้แบรนด์มีแผนในการดำเนินการตามคำบอกเล่าต่าง ๆ ที่เอ่ยออกมาอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กาแฟ แม้จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่ผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินในราคาที่สูงกว่าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตจากกระบวนการที่มีจริยธรรมและจากแหล่งที่ยั่งยืน แบรนด์ต้องวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของตนในที่จุดราคาที่เหมาะสม และขับเคลื่อนบทสนทนาของผู้บริโภคในเรื่องความยั่งยืนในทางที่ถูกต้อง โดยไม่สูญเสียปัจจัยพื้นฐาน เช่น เรื่องความปลอดภัย คุณภาพ และการใช้งาน
เมื่อการเดิมพันในเรื่องความยั่งยืนและกระแสตอบรับจากผู้บริโภคแม้เป็นเรื่องเสี่ยง แต่ความผิดพลาดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่ทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ ในมุมหนึ่งเรามักจะเห็นการแบรนด์หรือบริษัทพึ่งพานโยบายจากรัฐในการวางรากฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการออกแนวทางการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน อย่างไรก็ตามความคาดหวังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะยังเป็นหน้าที่ของแบรนด์ ดังนั้นแบรนด์จะต้องเข้าใจลำดับเรื่องสำคัญในใจผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้ออย่างยั่งยืน การผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับความใส่ใจในต้นทุนจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่แบรนด์จะต้องคำนึงนั่นเอง
พวกเราคิดว่า
เทรนด์ ‘Enjoyment Everywhere’ พิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างเช่น ปัญหาความแออัดในเมือง วิวัฒนาการของการจำลองสภาพแวดล้อมจริง (VR) การระบาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ซึ่งรวมถึงปัญหาภัยพิบัติจากสภาพอากาศ) และผลกระทบต่อผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นในหลากหลายภูมิภาค ซึ่ง Virtual Reality (VR) นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ประกอบขึ้นเพื่อสร้างเมตาเวิร์สที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการสร้างเสริมประสบการณ์สำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พื้นฐานสำคัญที่แบรนด์ต้องคำนึงคือการที่เทคโนโลยีนี้สามารถเข้าถึงและถูกใช้งานได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นได้ในวงกว้าง เป้าหมายในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่ขั้นกว่าในการสร้างประสบการณ์ดื่มด่ำ เสมือนจริง และตอบสนองได้เป็นอย่างดีแก่ผู้บริโภคจะผลักดันแบรนด์พยายามบูรณาการโลกแห่งความจริงและโลกดิจิทัลเข้ารวมกันเป็นหนึ่งให้จนได้
ในขณะเดียวกันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการระบาดใหญ่ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงความแพร่หลายของข่าวสารและข้อมูลเท็จ ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนลักษณะการบริโภคหรือเสพสื่อไปในรูปแบบที่พวกเขาสามารถ ‘เลือกเอง’ มากขึ้นในอนาคต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับแบรนด์ที่จะต้องเห็นใจและตระหนักว่าผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาหรือเหตุการณ์ใดอยู่ มากไปกว่านั้นแบรนด์จะต้องมีความซื่อสัตย์และโปร่งใสในธุรกิจของตนเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกตัดสินใจตัวเลือกสินค้าและบริการที่ดีที่สุดสำหรับตนเองได้
หากพูดถึงเรื่องของ ‘Climate Complexity’ ผู้บริโภคคาดหวังให้แบรนด์แสดงความรับผิดชอบมากที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นี่กลายเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ในการกำหนดมาตรฐานใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ FMCG ที่มองหาแนวทางแห่งอนาคตเพื่อช่วยเหลือสภาพแวดล้อมในระยะยาวด้วยการวางตัวเป็นตัวเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ยั่งยืนต่อสภาพอากาศ ด้วยการใช้ส่วนประกอบที่มีความยั่งยืนหรือเป็นทรัพยากรทางเลือกนั่นเอง ในการนี้แบรนด์ต่าง ๆ จะต้องเน้นไปที่การอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจซื้อของพวกเขาด้วยบทสนทนาและวิธีในการสื่อสารที่แปลกใหม่และแตกต่างจากรูปแบบเก่า ๆ
สุดท้ายเหตุการณ์ที่ผันผวนต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะยังคงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและลำดับความสำคัญในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตของพวกเขา เหตุการณ์เหล่านี้คาดว่าจะยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในปีต่อ ๆ ไป เนื้อหาแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลกปี 2022 ของ Mintel จะมอบเนื้อหาพื้นฐานที่สำคัญและอัดแน่นแก่แบรนด์ในการทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจากผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์และที่สำคัญที่สุดคือเหตุผลเบื้องหลังความต้องการเหล่านั้น
คุณสามารถรับชมการสัมมนาผ่านเว็บแบบออนดีมานด์ได้ที่นี่ และอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลกของ Mintel ในปี 2022 ได้ที่นี่
ติดตามเรื่องราวใหม่ ข่าวสาร และอีเวนต์ที่จะเกิดขึ้นได้ที่หน้านี้